top of page

ปรับตัวกับสังคมผู้สูงอายุ: การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย National Health Information System

ปรับตัวกับสังคมผู้สูงอายุ: การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย National Health Information System

ในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นเดียวกัน โดยประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 นี้นั้นมีมากถึง 12.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว สิ่งสำคัญที่สุดของผู้สูงอายุคือการดูแลสุขภาพ


แต่รู้หรือไม่ ? ว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่ในประเทศไทยกลับไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ผู้สูงอายุได้ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หนึ่งในนั้นก็คือ “การจัดตั้งระบบจัดการข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ (National Health Information System : NHIS)”


National Health Information System คืออะไร?


ระบบจัดการข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Information System (NHIS) เป็นฐานข้อมูลระดับชาติที่จัดเก็บระเบียนสุขภาพของผู้สูงอายุรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบ Real-Time เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลระบบประกันสุขภาพ ข้อมูลการแพ้ยา ประวัติการเป็นโรค ประวัติการรักษาโรค ประวัติการใช้ยา และประวัติการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อีกทั้งข้อมูลอื่น ๆ เป็นต้น


ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บบนแพลตฟอร์มนี้จะสามารถแบ่งปันให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้ยังมีการเก็บรวบรวมไปถึงข้อมูลของผู้ให้บริการด้านสุขภาพและสถานพยาบาลอีกด้วย


สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล National Health Information System อย่างไรได้บ้าง?


  • สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อช่วยสนับสนุนให้การดูแลรักษามีความต่อเนื่องและพัฒนาคุณภาพของการดูแลรักษา

  • ข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็น Big Data ที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการป้องกันโรค รวมถึงการวางแผนเชิงนโยบายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้


มีแค่ National Health Information System แล้วสามารถทำได้ทุกอย่างเลยหรือไม่?


จริง ๆ แล้ว NHIS เป็นเพียงฐานข้อมูลเท่านั้น ดังนั้นนอกจากการจัดทำ NHIS แล้ว ยังต้องมีการจัดทำ Medical Portal สำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพด้วย เพื่อให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยเพื่อประกอบการวินิจฉัยและรักษา


และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถติดต่อสื่อสารกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความชำนาญพิเศษ แม้จะไม่ได้อยู่โรงพยาบาลเดียวกันก็ตาม สิ่งนี้จะนำไปสู่กาารวินิจฉัยและรักษาที่ดีที่สุดต่อผู้สูงอายุนั่นเอง




นอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนา Patient Portal ด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าดูและอัปเดตข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองให้เป็นปัจจุบันได้ตลอดเวลา และผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลสามารถใช้ Patient Portal นี้ในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลและแพทย์ที่อยู่บนระบบเพื่อเลือกผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงทำการนัดหมายได้โดยตรง


ทั้งนี้ยังสามารถใช้ Patient Portal พื่อเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคและคำแนะนำในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสมให้แก่ผู้สูงอายุได้อีกด้วย


ทำไมการพัฒนาระบบ National Health Information System จึงสำคัญกับประเทศไทย?


NHIS ถือเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญต่อวงการสาธารณสุขไทย เนื่องจากเป็นหนทางที่สามารถแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการบริการทางด้านสุขภาพของผู้สูงอายุได้ เพราะผู้สูงวัยในประเทศไทยเกินกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเขตชนบทที่มีบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอหรือในบางพื้นที่อาจไม่มีสถานพยาบาลใกล้ ๆ เลยด้วยซ้ำ


ผู้สูงอายุหลายคนจึงจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในตัวเมืองหรือต่างจังหวัดเพื่อพบแพทย์เฉพาะทาง อย่างไรก็ตามในการเดินทางแต่ละครั้งนั้นยากลำบากมาก เนื่องจากสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย ผู้สูงอายุบางคนอาจต้องใช้ระยะเวลาเดินทางไกลหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน มานอนรอหน้าโรงพยาบาล เพื่อให้ทันรอรับบัตรคิวในการเข้าพบแพทย์เพียงแค่ไม่กี่นาที


นอกจากนี้ผู้สูงอายุบางส่วนยังมีฐานะยากจน และไม่สามารถพึ่งพาตนเอง กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหารุนแรงที่สุดในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข เพราะนอกจากปัจจัยทางกายภาพแล้ว ยังมีเรื่องฐานะที่ไม่เอื้ออำนวยอีก ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ผู้สูงอายุหลายคนต้องเลื่อนหรือยกเลิกการเข้าพบแพทย์และการตรวจสุขภาพบ่อยครั้ง


การมี NHIS จึงสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (NCDs) ที่ต้องมีการพบแพทย์เพื่อติดตามผลอยู่ตลอด เช่น ลูกหลานของผู้สูงอายุหรือตัวผู้สูงอายุเองสามารถอัปเดตข้อมูลเรื่องค่าความดันโลหิตหรือค่าน้ำตาลในเลือดประจำวันที่วัดเอง จำนวนแคลอรีที่ได้รับในแต่ละวัน หรือข้อมูลการออกกำลังกายเข้าไปในระบบ เมื่อแพทย์เห็นข้อมูลเหล่านี้ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนการให้ยาได้ตามความเหมาะสมโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล


ความท้าทายในการใช้ระบบ National Health Information System ในประเทศไทย


มีหลายความท้าทายที่อาจส่งผลต่อการเข้าถึงและใช้งาน NHIS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบโทรคมนาคมที่ยังไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่ ฐานะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟน รวมไปถึงความไม่คุ้นชินในการใช้เทคโนโลยีของผู้สูงอายุ


ดังนั้นในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ NHIS ได้มากขึ้น รวมถึงครอบครัวของผู้สูงอายุควรช่วยชี้แนะวิธีการใช้งานเพื่อสร้างความคุ้นชินในการใช้เทคโนโลยีให้แก่ผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน


ตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาฐานข้อมูลประวัติผู้ป่วยระดับชาติ


ในสิงคโปร์ก็ได้ประสบกับปัญหาจำนวนประชากรสูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้


สิงคโปร์จึงมีการจัดทำฐานข้อมูลประวัติผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ในระดับประเทศ (National Electronic Health Record : NEHR) ขึ้นมา ซึ่งเปิดให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพในระดับต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ ยกตัวอย่างเช่น พยาบาลในบ้านพักคนชราสามารถแก้ไขข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยสูงอายุในระบบให้เป็นปัจจุบัน และแพทย์ในโรงพยาบาลเฉพาะทางสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเหล่านั้นได้ทันที และตัดสินใจปรับเปลี่ยนการให้ยาได้ตามความเหมาะสมโดยที่ผู้ป่วยคนดังกล่าวไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล


นอกจากนี้สิงคโปร์ยังได้จัดทำ Patient Portal ในชื่อ HealthHub เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าดูและอัปเดตประวัติสุขภาพของตนเอง และเพื่อให้คนสิงคโปร์กระตือรือร้นในการดูแลตัวเองสุขภาพของตนเองเพิ่มมากขึ้น จึงมีการให้คำแนะนำด้านสุขภาพผ่าน HealthHub นี้ รวมถึงมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดเพื่อนำมาใช้ดูแลสุขภาพอีกด้วย


ทั้งหมดนี้ทำให้ HealthHub ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน โดย 90% รายงานว่าคุณภาพการให้บริการดีขึ้นหลังจากมีระบบ NEHR และ 87% ก็เต็มใจที่จะกรอกข้อมูลส่วนตัวเข้าระบบนี้ด้วย

สำหรับใครที่อยากพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ สามารถพูดคุยกับพวกเรา MEDcury ได้ที่


  • โทรศัพท์ : 02-853-9131 (ในเวลาทำการ 10:00 - 18:00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์)

  • อีเมล : sales@medcury.health หรือกรอกแบบฟอร์มคลิกที่นี่


ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MEDcury จากช่องทางอื่น



อ้างอิงข้อมูลจาก

bottom of page