top of page

Remote Patient Monitoring คืออะไร?

Remote Patient Monitoring คืออะไร?

เคยได้ยินคำว่า ‘Remote Patient Monitoring’ ไหม? แล้วเข้าใจรึเปล่าว่ามันคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร? วันนี้ MEDcury จะพาไปส่องอีกหนึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สำคัญต่อวงการสาธารณสุขไทย จะเป็นอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่!


Remote Patient Monitoring คืออะไร?

Remote Patient Monitoring (RPM) คือ การติดตามดูแลผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ที่บ้านจากทางไกลโดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อตรวจวัดและเก็บข้อมูลทางการแพทย์ รวมถึงข้อมูลด้านสุขภาพอื่น ๆ ของผู้ป่วย แล้วส่งข้อมูลเหล่านี้ให้แก่ผู้ให้บริการด้านสุขภาพตามช่วงเวลาผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพทำการประเมินและให้คำแนะนำที่จำเป็นได้


โรคอะไรที่สามารถใช้ Remote Patient Monitoring ติดตามอาการได้? แล้วต้องทำอย่างไร?

มีโรคต่าง ๆ มากมายที่สามารถติดตามอาการได้ผ่าน Remote Patient Monitoring เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หอบหืด หรือแม้แต่การติดเชื้อโควิด-19 เป็นต้น โดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อบันทึกข้อมูล เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดความดันโลหิต เป็นต้น


ในบางโรคอาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อน ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกอบรมผู้ป่วยด้วย ส่วนข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อไปยังผู้ให้บริการด้านสุขภาพผ่านทางเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์หรือบลูทูธนั่นเอง



ประโยชน์ของ Remote Patient Monitoring

จุดมุ่งหมายของ Remote Patient Monitoring นั้นก็เพื่อเปิดช่องทางให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถติดตามอาการของผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านได้โดยไร้ซึ่งข้อจำกัดด้านสถานที่ การมี Remote Patient Monitoring จึงช่วยให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาสถานพยาบาลบ่อย ๆ


โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ และผู้พิการที่มีความลำบากในการเดินทาง ทำให้สะดวกสบาย และประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา อีกทั้งผู้ให้บริการด้านสุขภาพยังสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที เพราะในบางครั้งบุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถรับทราบความผิดปกติจากข้อมูลที่ส่งมาก่อนที่ผู้ป่วยจะสังเกตพบอาการผิดปกติของตนเองด้วยซ้ำ


สถานการณ์การใช้ Remote Patient Monitoring ในต่างประเทศ

ด้วยประสิทธิภาพของ Remote Patient Monitoring จึงไม่แปลกที่เทคโนโลยีนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ป่วยมากกว่า 23 ล้านคนที่ใช้บริการและเครื่องมือ Remote Patient Monitoring


นอกจากนี้ทาง Insider Intelligence ก็ได้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ผู้ป่วยในสหรัฐฯ ที่ใช้บริการและเครื่องมือ Remote Patient Monitoring จะเพิ่มเป็น 70.6 ล้านคนหรือ 26.2% ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว


สถานการณ์การใช้ Remote Patient Monitoring ในประเทศไทย

สถานการณ์การใช้ Remote Patient Monitoring ในประเทศไทยนั้นยังเรียกว่าอยู่ในระดับที่มีการพัฒนาและการใช้แบบกระจัดกระจาย (Scattered Stage) อยู่ กล่าวคือยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และยังไม่ค่อยมีการให้บริการที่เป็นมาตรฐานและเป็นระบบ


ส่วนใหญ่แล้วมักนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกิจมากกว่า เช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาเตียงไม่พอ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องทำ Home Isolation โดยทางโรงพยาบาลจะมีการแจกอุปกรณ์ประเมินอาการต่าง ๆ ให้ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดแบบหนีบนิ้ว และยาที่จำเป็น เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยคอยรายงานอาการ เช่น ถ่ายรูป ส่งข้อความแชท เป็นต้น


รวมถึงจะมีการนัดเวลาเพื่อพูดคุยแบบ Real-Time ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น ไลน์ (Line) หรือแอปพลิเคชัน Telemedicine ของแต่ละโรงพยาบาลเอง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของประเทศไทยที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อขยายขอบเขตการนำเทคโนโลยี Remote Patient Monitoring มาใช้กับผู้ป่วยอย่างกว้างขวางและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น


เป็นอย่างไรกันบ้าง รู้จัก Remote Patient Monitoring กันมากขึ้นแล้วใช่ไหม สำหรับใครที่อยากพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ สามารถพูดคุยกับพวกเรา MEDcury ได้ที่


  • โทรศัพท์ : 02-853-9131 (ในเวลาทำการ 10:00 - 18:00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์)

  • อีเมล : sales@medcury.health หรือกรอกแบบฟอร์มคลิกที่นี่


ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MEDcury จากช่องทางอื่น



อ้างอิงข้อมูลจาก


bottom of page