top of page

Teleconsultation คืออะไร?

“Teleconsultation” ศัพท์ทางการแพทย์อีกคำที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ วันนี้ MEDcury ขอมาเล่าสู่กันฟังเหมือนเคย จะเป็นอย่างไรนั้น ไปดูกันเลย!


Teleconsultation คืออะไร?

Teleconsultation คือ การปรึกษาหารือโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขภาพด้วยกันเอง หรือการปรึกษาระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขภาพกับผู้ป่วย


ประโยชน์ของ Teleconsultation

เป้าหมายของ Teleconsultation นั้นก็เพื่อข้ามข้อจำกัดทางด้านสถานที่ที่มีผลต่อการทำงานระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่อยู่ห่างไกลกัน รวมถึงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ให้บริการด้านสุขภาพในการวินิจฉัยหรือการรักษาผู้ป่วยที่อยู่คนละสถานที่กันอีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการวินิจฉัยและการรักษา การเพิ่มความไว้วางใจของแพทย์ และการปรับปรุงคุณภาพโดยรวมของการดูแลสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ


ลักษณะของ Teleconsultation

Teleconsultation มีอยู่ 2 ลักษณะ ได้แก่ Asynchronous Consultation และ Synchronous Consultation มาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันเลย!


1. Asynchronous Consultation คืออะไร?

Teleconsultation ลักษณะแรกคือ Asynchronous Consultation ซึ่งเป็นการบันทึกข้อมูลนั้นให้เสร็จก่อน แล้วค่อยส่งต่อข้อมูลนั้น (Store-and-Forward) เพื่อให้หรือรับคำปรึกษา เช่น วิดีโอที่ถูกบันทึกไว้ ฟิล์มเอกซเรย์ รูปถ่าย รวมถึงผลตรวจต่าง ๆ ของผู้ป่วย เป็นต้น


Asynchronous Consultation มักใช้สำหรับการส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยจากเจ้าหน้าที่การแพทย์ทั่วไปไปยังเจ้าหน้าที่การแพทย์เฉพาะทาง MEDcury ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นด้วยเคสนี้ โรงพยาบาล A เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ไม่มีรังสีแพทย์อยู่ประจำ


ดังนั้นบุคลากรในโรงพยาบาลจึงส่งฟิล์มเอกซเรย์ของผู้ป่วยที่บันทึกไว้ต่อไปให้รังสีแพทย์ในโรงพยาบาล B ที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับสภาวะของผู้ป่วย



2. Synchronous Consultation คืออะไร?


อีกลักษณะของ Teleconsultation ก็คือ Synchronous Consultation ซึ่งเป็นการให้หรือรับคำปรึกษาที่มีการโต้ตอบกันไปมาหรือสื่อสารสองทาง (Two-Way Communication) แบบ Real-Time เช่น การปรึกษาหารือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ แบบ Real-Time การตรวจวินิจฉัยผ่านวิดีโอแบบถ่ายทอดสดด้วยคอมพิวเตอร์แบบ Real-Time


Teleconsultation ทั้ง 2 ลักษณะนี้จะกระทำผ่านอีเมล โทรศัพท์ ระบบส่งข้อความอัตโนมัติ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ รวมถึงอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากัน นอกจากนี้การทำ Teleconsultation นั้นยังไม่ถูกจำกัดแค่ภายในเขตแดนของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้นอีกด้วย



ตัวอย่างเคสการใช้ Teleconsultation

MEDcury ขอยกตัวอย่างเคสนี้ ที่ศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ พยายามร่วมมือกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดหลอดเลือดโป่งพองให้แก่ผู้ป่วยโดยใช้ Teleconsultation

เรื่องราวเริ่มต้นที่แผนกสรีรวิทยาระบบประสาทของศูนย์แห่งหนึ่งในเมืองมาสทริชท์ ประเทศเนเธอแลนด์ ได้ทำการประเมินข้อมูลคลื่นไฟฟ้าของระบบประสาทสั่งการ (Motor-Evoked Potentials : MEPs) ของผู้ป่วย แล้วส่งต่อข้อมูลนี้ให้แก่ศูนย์หลอดเลือดทั้งหมด 4 แห่งใน 3 ประเทศทั่วยุโรปโดยใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อให้ศัลยแพทย์ใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ในการป้องกันและผ่าตัดหลอดเลือดโป่งพองที่อาจมีผลต่อการเกิดอัมพาต นักประสาทวิทยาที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ในเนเธอร์แลนด์และศัลยแพทย์ที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในแต่ละประเทศทั่วยุโรปได้มีการปรึกษาหารือกันแบบ Real-Time จนสุดท้ายสามารถทำการผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยได้สำเร็จ โดยผู้ป่วย 3 รายมีอาการดีขึ้น และอีก 3 รายก็ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

เห็นกันแล้วใช่ไหมล่ะว่า Teleconsultation ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถปรึกษาหารือกันได้แบบข้ามพรมแดนกันไปเลย ถือเป็นการรวมศูนย์ความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์จากแต่ละที่เอาไว้เลยทีเดียว


สิ่งสำคัญสำหรับการใช้ Teleconsultation

​​จุดที่สำคัญที่สุดของการทำ Teleconsultation รวมถึงการให้คำปรึกษาแบบอื่น ๆ นั่นก็คือคุณภาพและปริมาณของข้อมูล หรือพูดง่าย ๆ คือต้องมีการรวบรวมข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วนเพียงพอ และส่งต่ออย่างทันท่วงที เพื่อการตัดสินใจวินิจฉัยหรือรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง


เป็นอย่างไรกันบ้าง MEDcury หวังว่าทุกคนจะรู้จัก Teleconsultation มากขึ้นนะ สำหรับใครที่อยากพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ สามารถพูดคุยกับพวกเรา MEDcury ได้ที่


  • โทรศัพท์ : 02-853-9131 (ในเวลาทำการ 10:00 - 18:00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์)

  • อีเมล : sales@medcury.health หรือกรอกแบบฟอร์มคลิกที่นี่


ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MEDcury จากช่องทางอื่น



อ้างอิงข้อมูลจาก


Comentarios


bottom of page